• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
    • ภาพรวม
    • ทีมวิทยากร
  • หลักสูตรอบรม
    • หลักสูตรอบรมการวางแผนการเงิน CFP®
    • Module 1
    • Module 2 หลักสูตรเดิม
    • Module 2 หลักสูตรปรับปรุงใหม่
    • Module 3
    • Module 4
    • Module 5
    • Module 6
    • หลักสูตรเตรียมความพร้อมเพื่อสอบ
    • Module 1
    • Module 2 หลักสูตรเดิม
    • Module 2 หลักสูตรปรับปรุงใหม่
    • Module 3
    • Module 4
    • Module 5
    • Module 6
    • E-Learning
    • ทบทวนหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP®
    • เตรียมสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP®
    • เตรียมสอบใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC
    • เพิ่มความรู้และทักษะการเงิน
  • อบรมภายในองค์กร
    • หลักสูตรอบรมภายในองค์กร (In-House)
  • สมัครอบรม
    • หลักสูตรอบรมและทบทวนการวางแผนการเงิน
    • คอร์สเรียนออนไลน์ E-Learning
  • ปฏิทิน
  • กิจกรรม
  • ข้อมูลควรรู้
    • บทความ
    • Investment Planner (IP)
    • Investment Consultant (IC)
    • About CFP
    • คุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP®
      • ข้อกำหนดด้านการศึกษา
      • ข้อกำหนดด้านการสอบ
  • ความประทับใจ
  • ติดต่อเรา

ออกแบบเงินใช้ยามเกษียณได้ด้วย Provident Fund

Post Title
19 ก.พ. 2562
สำหรับมนุษย์เงินเดือนทุกท่าน  ก่อนที่ท่านจะก้าวออกจากชีวิตการทำงานประจำและเริ่มใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียณ หรือเริ่มเดินทางใหม่ในเส้นทางของอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการก็ตาม ท่านได้เตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมเงินออมไว้อย่างพอเพียงแล้ว หรือยังครับ

อย่าเพิ่งกังวลไปครับ โชคดีที่ปัจจุบันหลายๆบริษัทมีแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (PVD) ให้แก่พนักงาน ซึ่งจะช่วยให้ท่านมีเงินก้อนจำนวนไม่น้อยในวันที่ออกจากงาน เพราะนอกจากเงินที่ท่านสะสมเข้าไปในกองทุนแล้ว ท่านยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้างและผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดระยะเวลาการทำงาน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับเงินก้อนจาก PVD ไป หลายครั้งเงินก้อนดังกล่าวถูกนำไปใช้จนหมดก่อนถึงเวลาอันควร ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้นก่อนที่จะนำเงินออกมา อยากให้ทุกท่านทราบทางเลือกในการรับเงินจาก PVD และเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ท่านสามารถจัดการเงินของท่านได้อย่างเหมาะสม และไม่ถูกนำไปใช้เกินกว่าความจำเป็น

กรณีเกษียณอายุ

หากท่านเป็นสมาชิก PVD ครบ 5 ปี และอายุครบ 55 ปี ขึ้นไป สามารถเลือกรับเงินได้ดังนี้

  • เลือกคงเงินทั้งหมดไว้ใน PVD 
หากท่านยังมีเงินออมหรือมีรายได้จากส่วนอื่น ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินจาก PVD ท่านสามารถขอให้บริษัทคงเงินและบริหารเงินให้ท่านต่อเนื่อง และถอนออกมาเมื่อท่านต้องการใช้เงิน

  • โอนเงินไปยัง กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ด้วยนโยบายการลงทุนของ PVD ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกองทุน ซึ่งอาจไม่ตรงกับควาต้องการและระดับความเสี่ยงที่รับได้ของท่าน จึงอาจพิจารณาโอนย้าย PVD ไปยัง RMF และกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้

  • ถอนออกบางส่วน หรือทยอยถอนออก
ในช่วงหลังเกษียณ เชื่อว่าหลายท่านคงอยากให้รางวัลชีวิตกับตนเองหลังจากทำงานมาอย่างยาวนาน เช่น ไปพักผ่อน ท่องเที่ยว ในขณะที่ร่างกายยังไหวอยู่ ท่านสามารถถอนเงินบางส่วนจาก PVD ออกมาใช้จ่ายก่อนในช่วงแรก และปล่อยให้เงินที่เหลือยังคงทำงานได้รับผลตอบแทนต่อไป

  • ทยอยรับเงินเป็นงวด
แม้ว่าท่านจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน แต่ท่านสามารถขอให้กองทุนทยอยถอนเงินจาก PVD ออกมาเป็นงวดๆลักษณะคล้ายบำนาญที่ข้าราชการรับได้ โดยแจ้งกับนายทะเบียนและคณะกรรมการกองทุนเพื่อขอถอนเงินจาก PVD เป็น รายเดือน รายสามเดือน รายหกเดือน รายปี เป็นต้น ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการถอนเงินด้วย เพราะแต่ละครั้งท่านอาจเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100 บาท ซึ่งถ้าท่านรับงวดละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้จะสูงถึง 1% เลยทีเดียว

  • ถอนออกบางส่วน ที่เหลือทยอยถอน
นอกจากท่านจะสามารถถอนเงินออกเพื่อมาให้รางวัลกับชีวิตหลังออกจากงานเป็นก้อนแล้ว เงินที่เหลือท่านยังสามารถขอให้ทยอยจ่ายเป็นงวดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำได้เช่นกัน

  • ถอนออกทั้งจำนวน
หากท่านมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือมั่นใจว่าบริหารเงินของตนได้ดีกว่า PVD ที่บริษัทเลือกให้ ท่านสามารถเลือกรับเงินทั้งจำนวนได้ โดยท่านจะได้รับเงินดังกล่าวภายใน 30 วันหลังจากสิ้นสมาชิกภาพ

กรณีออกก่อนเกษียณ

หากท่านออกจากงานโดยไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น ท่านอาจมีทางเลือกในการจัดการเงิน PVD ได้ไม่มากนัก ดังนี้

  • รับเงินออกทั้งจำนวนและนำเงินไปบริหารด้วยตนเอง
สำหรับกรณีนี้จะแตกต่างจากกรณีก่อนหน้า เพราะหากท่านถอนเงินออกแบบไม่ครบตามเงื่อนไข ท่านต้องนำเอาเงินที่ได้รับจาก PVD ยกเว้นเงินที่ท่านสะสมเอง มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกับรายได้ในปีที่นำเงินออกด้วย

แต่ถ้าท่านเป็นสมาชิก PVD มาแล้ว 5 ปีขึ้นไป ท่านสามารถนำยอดเงินข้างต้นมายื่นภาษีในใบแนบได้ ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถบริหารภาษีได้ดียิ่งขึ้น

  • คงเงินไว้เพื่อรอการโอนย้ายหรือเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ทางภาษี
  • เลือกโอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
หากกลัวว่าจะต้องเสียภาษีในวันที่นำเงินออก ท่านสามารถขอให้บริษัทคงเงินไว้ใน PVD จนกว่าอายุจะครบ 55 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในวันที่นำเงินออก  ทั้งนี้ท่านจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนฯมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีด้วย

วิธีการนี้จะช่วยให้ท่านมีทางเลือกในการบริหารเงินออมของท่านที่มากขึ้น ผ่านกองทุน RMF ที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ท่านเลือกโอนไป โดยเงื่อนไขทางภาษียังคงเสมือนกับการคงเงินไว้ใน PVD และไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมต่อเนื่องเหมือนกันการซื้อ RMF กรณีทั่วไป

  ทั้งนี้ทางเลือกข้างต้น ไม่ว่ากรณีที่ครบเงื่อนไขอายุสมาชิกกองทุนฯ และอายุของท่านเอง หรือไม่ก็ตามท่านจะต้องตรวจสอบข้อบังคับหรือเงื่อนไขกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้กับบริษัทจัดการไว้ด้วย เช่น PVD ของบางบริษัท กำหนดให้คงเงินกองทุนได้ไม่เกิน 3 ปี บางบริษัทให้เลือกรับเงินแค่ปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น

 เห็นได้ว่าปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้เปิดทางเลือกให้พิจารณารับเงินจาก PVD ได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นท่านจึงควรวางแผนรายได้รายจ่ายในช่วงหลังออกจากงานล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถเลือกวิธีรับเงินได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ และมีเงินเพียงพอใช้ไปตลอดชีวิต

Search our Blog

Recent Posts

Categories

Archive

  • CMSK
    Center of Money Skills and Knowledge.